000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > รายงานบททดสอบ > เครื่องเสียงบ้าน > PHD POWER STATION (ความยิ่งใหญ่ที่เรียบง่าย)
วันที่ : 28/06/2016
8,607 views

PHD POWER STATION (ความยิ่งใหญ่ที่เรียบง่าย)

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

หลักการออกแบบตัวกรองไฟ PHD POWER STATION (ผมขอเรียกสั้นๆว่า PHD-BOX) เท่าที่สอบถามผู้ออกแบบคือ ดร. อดิศักดิ์ หัวหน้าภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ท่านได้ให้ปรัชญาในการออกแบบคือ

ตัวกรองไฟที่ใช้ภายในจะต้องง่ายที่สุด ไม่ใช่วงจรที่สลับซับซ้อน มากชิ้นส่วน เพราะจะมีข้อเสียคือ

  • อั้นกระแสไฟฟ้า ฟังออกชัดว่าเสียงตกลง หรืออั้น หรือวูบวาบไปตามการสวิงของสัญญาณ เป็นการไป “กระเพื่อมสัญญาณ” (MODULATED SIGNAL) รวมทั้งการสวิงที่หน่วงช้า-ลง (เกิด TRANSIENT DISTORYION)
  • อาจให้กราฟการวัด หรือสเปค หรือรูปคลื่นที่ดูสะอาดหมดจด (บนจอแสดงคลื่น OSCILLOSCOPE) แต่อย่าลืมว่าเครื่องมือวัดจะมีความต้านทานขาเข้าที่สูงมากๆ (เป็นล้านๆโอห์ม) ย่อมไม่เป็นภาระแก่กระแสไฟ AC ที่ถูกดึงเข้ามา เสมือนว่าต่อแบบวงจรเปิด (OPEN CIRCUIT) ไว้ อีกทั้งในการวัดทดสอบ กระแสที่ไหลก็ต่ำมาก ไม่ใช่การใช้งานจริงๆที่บางครั้งกระแสจะสวิงหลายๆสิบแอมป์ (จากตอนวัดที่ไม่ถึงหนึ่งแอมป์) ทั้ง 2 กรณี (ในการวัดทดสอบ) จะให้ผลตัวเลข (รูปคลื่น) ที่ดูดีทีเดียว

แต่ในการใช้งานจริงๆมันคนละเรื่องเลย ดังกล่าวแล้วในเรื่องปริมาณกระแสไฟและความต้านทานขาข้าวของเครื่องเสียงที่อย่างเก่งก็หลักพันๆโอห์ม ไม่ใช่สูงอย่างเครื่องมือวัด ผลคือ จะไม่เป็นไปอย่างที่วัดได้แน่นอน และมักจะแย่กว่ามาก

วงจรของ อจ.ดร.อดิศักดิ์ จึงอาจดูเหมือนไม่มีอะไร แต่จริงๆท่านก้าวไปสู่การใช้โมเลกุลของสายตัวนำ ที่ผ่านขบวนการแช่แข็ง ด้วยสูตรการแช่แข็งพิเศษของท่าน...เรียก AGOLITHM เหมือนสูตรปรุงกับข้าวหรือปรุงยา ที่ต้องมีจังหวะขั้นตอน การลดอุณหภูมิ และการแช่ค้าง ณ อุณหภูมิหนึ่งๆเป็นลำดับขั้น ผิดไปจากนี้จะไม่ได้ผล หรือกลับเป็นผลเสียด้วยซ้ำ (ไม่ใช่ว่าเอะอะแช่เย็น CHRYDGENIC แล้วจะดีไปหมด บ่อยๆที่เสียงจัดจ้าน,กร้าวไปเลย ตัวเทคนิคการแช่แข็งก็มีเป็นสิบวิธี ทั้งแห้ง ทั้งเปียก ฯลฯ)

ผลิตภัณฑ์เครื่องเดียว (ACCESSORIES) ของ อจ.ดร.อดิศักดิ์ จึงมักดูเหมือน “ไม่มีอะไร” แต่ปรากฏว่าได้ผลเกินคาดเหลือเชื่อเสมอ

ในการประกอบ อจ.จะพิถีพิถันทุกกระเบียดนิ้ว เพราะล้วนมีผลทั้งสิ้นและทุกชิ้นที่นำมาใช้ จะต้องผ่านการฟังทดสอบอย่างเอาเป็นเอาตายว่ามันดีจริง อจ.ไม่ได้ “ขายของ” แต่ “ขายเสียง

กล่อง PHD-BOX จะให้สายไฟ AC ขาเข้าคุณภาพสูง (ที่ถอดได้พร้อมหัว IEC 3 ขา อย่างดี สายเส้นใหญ่เท่านิ้วชี้) โดยจะมีมาให้ 2 เส้น

เส้นหนึ่งจะต่อไฟขั้วบวก,ลบ สลับกันไว้ภายใน เพื่อให้ผู้ใช้ลองสลับใช้สายทั้งสองว่า เส้นไหนที่เสียงดีกว่า (ถูกเฟสกับเฟสของรูเต้าเสียบที่กำแพง ถ้าไม่ถูกเฟสเสียงจะแย่ลง...แบนลง) ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องวิ่งตามช่างไฟมาช่วยรื้อเต้าเสียบตัวเมียที่กำแพงมากลับสายไฟบวก,ลบ ไม่ต้องเสี่ยงทำเองให้เป็นอันตรายด้วย

เฉพาะสายไฟ AC นี่ เส้นหนึ่งก็สองพันกว่าบาทแล้ว (ให้มา 2 เส้นก็สี่พันกว่าบาท)

รูเต้าเสียบตัวเมียขาออกเป็นฮับเบลสีส้ม (HOSPITAL GRADE) ให้มา 2 ชุด (ชุดละร่วมสองพันบาท 2 ชุดก็สี่พันบาท) เป็นแบบรูแบน 3 ขา เสียบแล้วแน่นเปี้ยะ การรั่วไหลต่ำ

เต้า AC ตัวเมียขาออกแยก 2 ชุดนี้ (แยกแนวตั้งบน-ล่างเหมือนกันเป็น 1 ชุด) โดยชุดทั้งสองจะให้เฟสไฟบวก-ลบต่างกัน ให้ผู้ใช้ลองนำสายไฟ AC (3 ขา) มาเสียบชุดทั้งสองดู (เช่นชุดซ้ายที,ขวาที แล้วฟังดูว่าชุดไหนให้เสียงซ้าย,ขวา สมดุลเหมือนกัน และมิติตรงกลางมีทรวดทรงโฟกัสเป็น 3D (ไม่แบน) ดีกว่าก็เลือกชุดนั้น เรียนตรงๆว่า ดร.อดิศักดิ์ ท่านมองทะลุอ่านเกมส์และปัญหาได้ขาด เพราะเฟสไฟ (ทั้งขาเข้ากล่อง) และขาออกไปเครื่องเสียง มีผลต่อสุ้มเสียงอย่างที่สุด พูดได้ว่า ไม่มีตัวกรองไฟยี่ห้อไหนในโลก ได้ตะหนักถึงปัญหานี้เลย ไม่ว่าถูกแพงแค่ไหน เป็นแสนบาทขึ้นไปก็ยังมองข้ามหมด (คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อผม หรือ ดร.อดิศักดิ์ คุณลองดูเองได้อยู่แล้ว)

ตัวกล่องเหล็ก PHD-BOX เป็นเหล็กหนา หนักพอควร ซึ่งล้วนมีผลต่อเสียงทั้งนั้น รวมทั้งสายไฟที่เดินภายใน (สายคุณภาพระดับไฮเอนด์)

ผมเคยทดสอบตัวกรองไฟคล้ายๆของ อจ. เมื่อสิบกว่าปีมาแล้วเป็นของฝรั่ง ขายอยู่เกือบ 5 หมื่นบาท (สมัยเกือบ 20 ปีมาแล้ว) ก็ได้ผลดีพอๆกับของ อจ.นี่แหละ (เพื่อนผมก็ยังใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้)

ในการใช้งาน เรียนตรงๆว่า ผมมีความสุขมาก ไม่ต้องหาตัวหัวเสียบมาต่อคั่นให้วุ่นวาย ในกรณีที่เฟสไฟไม่ตรง ตัวหัวเสียบก็หายาก ขนาดว่าที่ดีและแพงที่สุดในตลาด ก็ยังลดทอนคุณภาพเสียงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว (ถือว่าเยอะเอาเรื่อง)

ผลการทดสอบ

ผมใช้ชุดที่ทดสอบลำโพง JBL S-230 ที่ลงทดสอบในเล่มนี้เช่นกัน โดยผมย้ายสายไฟ AC ของอินทริเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 จากเดิมเสียบที่เต้าเสียบตัวเมีย ฮับเบลสีส้มที่กำแพง มาเข้าชุดซ้ายมือของ PHD-BOX (เฟสไฟตรงกับ เดิมที่กำแพงซึ่งผมสลับไฟไว้นานแล้ว) ส่วนสายไฟ AC ของเครื่องเล่น CD T+A 1265 R ก็ย้ายมาเสียบที่ขาออกชุดขวาของ PHD-BOX (เฟสไฟตรงกับเดิมที่กำแพงขวาของห้องฟัง)  ลำโพงผมใช้ JBL S-230 คู่ที่นำมาทดสอบนั่นแหละ (กรุณา ดูรายละเอียดอื่นๆในการทดสอบลำโพงคู่นี้ด้วย) ผมเปิดเพลงเบิร์นอินกล่อง PHD-BOX อยู่ร่วม 10 ชั่วโมงและยกกล่องนี้ไปใช้กับชุดดูหนังที่ห้องนอนอีกประมาณ 10 ชั่วโมง ผมยกกล่อง PHD-BOX สูงหนีพื้นห้องวางบนตั้งหนังสือสูงครึ่งเมตร (ไม่ควรวางบนพื้น แม้จะเป็นพรม/ปูนเพราะในปูนมีโครงเหล็ก) ระวังมิให้สายต่างๆแตะต้องกันหรือถูกโลหะใดๆ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ไฟที่เข้าห้องเสียงผม มีปลั๊กตัวผู้กรองไฟของ PHD เสียบแช่อยู่แล้ว 2 ตัว ซึ่งมีผลช่วยเรื่องเสียงและมิติมากโขอยู่แล้ว (เอาออกนี่ไม่อยากฟังเลย) จนแต่แรกผมคิดว่า ถึงใส่กล่อง PHD-BOX เบิ้ลเข้าไปอีก ก็คงช่วยให้ดี ขึ้นอีก ไม่น่าจะได้แล้ว แต่กลับเป็นว่า ทุกอย่าง ดีขึ้นอีกถึง เท่าตัว เรียกว่าพอฟังจนชินหูแล้ว พอเอากล่อง PHD-BOX ออก ก็เป็นอันว่าไม่อยากฟังไปเลย

สิ่งที่ PHD-BOX ปรับปรุงขึ้นมาคือ

  1. เสียงต่างๆมีทรวดทรงเป็น 3มิติ (3D) มากขึ้น แม้แต่แผ่นที่บันทึกมาแย่ (แบนสนิท) ทำให้น่าฟังขึ้นมาก
  2. การสวิงของเสียงเต็มที่ขึ้น เป็นอิสระขึ้น ทำให้เสียง “กระเด็น” หลุดลอยออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน แยกแยะให้จะแจ้งมากขึ้น อิสระขึ้น ฟังแล้วตื่นตัวมีชีวิตชีวาขึ้น (LIVE ขึ้น)
  3. จากข้อ 2 ทำให้เวทีเสียงแผ่หลุดลอยออกมาหาเราได้มากขึ้น โอ่อ่าห่อหุ้มตัวเราได้ดีขึ้น เราจะเหมือนอยู่ในเหตุการณ์ได้บรรยากาศและสมจริงมากขึ้น (ยิ่งเอาไปดูหนังยิ่งเห็นชัด ในตอนที่ผมเอาไปใช้ดูหนังที่ห้องนอนกับชุดเสียง 2.1 CH)
  4. น้ำหนักเสียงดีขึ้น อิ่ม ควบแน่น เข้มข้นขึ้น ทุ้มลงลึกขึ้น สะท้านห้องมากขึ้น กระชับขึ้น ไม่รู้สึกอั้นอะไรทั้งสิ้น
  5. มิติตื้น-ลึก,สูง-ต่ำ ดีขึ้น ความกังวานดีขึ้น สงัดขึ้น น่าสนใจขึ้น
  6. รายละเอียดดีขึ้น การถ่ายทอดอากัปกิริยาของนักร้อง นักดนตรีจะแจ้งเต็มที่ขึ้น ปิดจุดบอดส่งเสริมจุดดี

ผมฟังชุดนี้อยู่ 2 – 3 วันจนชินหูกับแผ่น CD เป็นสิบอัลบั้มทุกรูปแบบทุกสไตล์ ทั้งแผ่นที่บันทึกระดับเทพและระดับบ๊วย เมื่อลองถอดกล่อง PHD-BOX ออก เรียนตรงๆว่า รับไม่ได้ มันเคยชินกับสิ่งที่ดีกว่าไปแล้ว ไม่ต้องสงสัย ผมจองไว้ชุดหนึ่งทันที โดยไม่ลังเลเลย

ลองเอาไปดูหนังฟังหนัง ที่ห้องนอนประกอบด้วย เครื่องเล่นแผ่นบลู-เรย์ OPPO 105 (แยกสาย,จัดสายภายใน,ยกสายดินในเครื่องออก) มีระบบระบายกระแส EDDY CURRENT ดูทดสอบเดือนกันยายน อินทริเกรทแอมป์ deVialet 110,และ SOKEN 620 (เดือนตุลาคม) มีกล่องผลึกคริสตัลดูดคลื่นในห้อง (11 กล่อง!!) ใช้ DAC ของ NPE ภายนอก (เพื่อความสะดวกและเพื่อการค้นคว้า) ตัวฉาย PROJECTOR DLP FULL HD ของ SAMSUNG A600,สายภาพ MONSTER 2000, จอภาพกระดาษปูโต๊ะจากญี่ปุ่น ตัวขยายเสียง SOKEN ST-12 (2,500 บาท) สายเสียง FURUKAWA มิว P-1 สายไฟ AC ของตัวฉาย MONSTER 800,ของ OPPO 105 ผ่านสายไฟ FURUKAWA CB-10 (3 เส้น,หัว WATT GATE) ขนาดว่ามี ปลั๊กกรองไฟ PHD 2 เสียบอยู่ 2 ตัว ที่ OPPO 105 กับ A600 อีก 2 ตัวที่ SOKEN ST-12 ดูๆแล้วชุดดูหนังของผมน่าจะสุดขอบแล้ว (ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น ขนาดว่าชุดแยกชิ้นทำอะไรไม่ได้เลย) อีกทั้งภาพก็เหลือๆแล้ว (ตามโชว์รูมและตามงานภาพไม่ได้กินชุดผมเลย)

พอผมเอา PHD-BOX ไปคั่นก่อนเดินสายไฟเข้ากำแพงให้แก่ชุดนี้ทั้งเสียงและภาพ ปรากฏว่าเสียงดีขึ้นทุกแง่มุมในทำนองเดียวกับที่ลองในห้องเสียงที่รู้สึกชัดเป็นพิเศษคือ บรรยากาศเสียงที่ห่อหุ้มตัวเราดุจฟังชุดเซอร์ราวด์เต็มขั้นเลย (ทั้งๆที่ผมใช้ 2 CH กดที่ OPPO 105ไปเสียง LT,RT น้ำหนักเสียงที่อิ่ม เต็มที่มากขึ้น)

(อ้อ...ลืมบอกไป บน OPPO 105 ผมเอากระดาษที่พ่นผงถ่าน GRAPHITE เคลือบไว้ มาวางด้านบนของเครื่อง…เว้นช่องว่างบริเวณหม้อแปลงไฟไว้)

ภาพที่ได้มีมิติมากขึ้น บริเวณที่สว่างก็สว่างยิ่งขึ้นไปอีก (แต่ไม่โพลน) สีสัน สดใส มีพลังเปล่งประกายยิ่งขึ้น อิ่มขึ้น เม็ดภาพนิ่งขึ้น อาการกระตุกของภาพ (แอนิเมชั่น) ลดลงมาก ภาพเกลี้ยงสะอาดตา ดูสบายขึ้น เป็น 3 มิติมากขึ้น คมชัดแบบธรรมชาติขึ้น แยกแยะดีขึ้น

ยิ่งกับแผ่น Blu-ray เรื่อง 3 ทหารเสือ (พากษ์ไทย)  ภาพนี้ต้องเรียกว่า โอ้โหกันเลย ยังกับดูด้วยเครื่องฉายระดับ 3 แสนบาท จออีก 1 แสนบาท (เครื่องฉาย A600 ผมแค่ 59,900 บาท จอพันบาท) ขนาดภรรยาผมเดินเข้ามาเธอถึงกับผงะว่า มิติภาพดี มากๆ เลย เหมือนหลุดลอยออกมา เหมือนกำลังดูภาพจากฟิล์มสไลด์ ด้วยตัวฉายสไลด์ระดับ LEICA (เป็นแสนบาท) เรียนตรงๆว่าภาพสุดยอดอย่างนี้ดูแล้วเพลินสุดๆ

สรุป

ตัวกรอง PHD POWER STATION อาจไม่ถูกนัก (ชุดละ 18,000 บาท แต่ถ้าเอาสายไฟAC ชุดเดียวก็เหลือ 16,000 บาท) แต่เมื่อคิดว่ามันทำให้ลำโพงวางหิ้ง (อย่าง JBL S-230) เหมือนคุณเพิ่มซับวูฟเฟอร์ ACTIVE 1ตู้ (หมื่นกว่าบาท) มันทำให้ คุณฟังแผ่น CD อีกนับสิบที่คุณเคยร้องยี้ (เสียเงินเปล่า) กลับฟังได้หมด มันทำให้ชุดภาพของคุณดุจชุดไฮเอนด์เป็นแสนๆ บาท

ผมถามคำหนึ่งว่า PHD-BOX นี้ยังจะแพงอยู่อีกไหม!  (นี่ไม่ใช่เรื่องของความฟลุ๊ก,ความมหัศจรรย์ หากแต่มันเป็นเรื่องของคนที่รู้จริงรู้สึกในการออกแบบและผลิตมากกว่า)

หมายเหตุ

PHD-BOX ทุกเครื่อง อจ.ดร.อดิศักดิ์เป็นผู้ประกอบด้วยมือของท่านเองทุกเครื่อง เพื่อป้องกันความผิดพลาด

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459